มติชนสุดฯและเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทองต้องขอโทษคนอีสานจากกรณีดูหมิ่นผู้หญิงอีสานผ่านบทความ

มติชนสุดฯและเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทองต้องขอโทษคนอีสานจากกรณีดูหมิ่นผู้หญิงอีสานผ่านบทความ

สร้างแล้ว
23 ธันวาคม ค.ศ. 2019
กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์
ผู้สนับสนุน 603เป้าหมายต่อไป 1,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

ข้อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการเผยแพร่บทความ “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” ของ คุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ในคอลัมน์ โลกหมุนเร็ว โดยมติชนสุดสัปดาห์

ฉบับวันที่  13 - 19 ธันวาคม 2562 เผยแพร่วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2562

เนื่องด้วยเนื้อหาของบทความดังกล่าว ได้กล่าวพาดพิงให้เกิดความเสียหายต่อผู้หญิงอีสาน คนอีสาน และสังคมอีสาน โดยรวม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

1.การดูถูกเหยียดหยาม ศักดิ์ศรีความเป็นของคนอีสาน และผู้หญิงอีสาน โดยการใช้คำพูดในเชิงดูถูกด้านการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ ความคิด วัฒนธรรม อุปนิสัย รวมถึงพันธุกรรมของผู้หญิงอีสาน ซึ่งนั่นหมายรวมถึงสังคมอีสานทั้งสังคม เพราะหน่วยสังคมหนึ่งไม่ได้มีองค์ประกอบแค่เพศใดเพศหนึ่ง หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่มันมีความหลากหลายส่วนประกอบที่ก่อรูปร่างให้เกิดเป็นสังคม ชุมชน คนอีสาน หรือแม้แต่ประเทศไทย เพราะฉะนั้น เมื่อการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้หญิงอีสาน ก็หมายถึงการดูหมิ่นทั้งสังคมอีสาน ทั้งเพศหญิง เพศชาย เพศหลากหลาย ทุกเพศทุกวัย ทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอีสาน

2.การดูหมิ่นศักดิ์ศรีผู้หญิงอีสานที่พูดถึงพฤติกรรมการชอบความสบาย รอรับคำสั่ง ถนัดในงานบริการ และเลือกที่จะแต่งงานกับชายชาวต่างชาติเพื่อไต่เต้าทางสังคมและขยับฐานะทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษา มากกว่าเลือกที่จะแต่งงานกับฝรั่งเพื่อความสบาย (โดยตั้งคำถาม “ทำไมหญิงอีสานจึงไม่เลือกเอาตัวรอดด้วยการศึกษา เป็นเรื่องของ “โอกาส” หรือว่า “อุปนิสัย”)

3. ผู้เขียนใช้คำที่ดูถูกเหยียดหยามการแต่งงานการข้ามชาติ ข้ามเผ่าพันธุ์ เหมือนกับผู้หญิงอีสานเหล่านั้น เป็นอาชญากร จนต้องใช้คำว่า “ผู้เขียนภาวนาขอให้ marriage migration นี้เป็นแค่ trend และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป trend นี้จะหมดไป แต่ดูเหมือนว่านี่จะเป็นความหวังที่รางเลือน

4. การดูถูกอาชีพการทำงานบ้าน ว่าเป็นอาชีพต่ำต้อย ทำงานโดยคนที่มีการศึกษาน้อย แต่การที่ผู้หญิงอีสานมีการศึกษาน้อย เพราะพวกเธอเหล่านั้นไม่เลือกโอกาสทางการศึกษา แต่มันเป็นเพราะนิสัยการพึ่งพาพึ่งพิงคนอื่น และการเห็นตัวอย่างรุ่นพี่ที่ไปมีสามีฝรั่ง เลยเอาแบบอย่าง ส่วนผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานกับฝรั่ง จึงต้องจมปลักอยู่กับงานที่มีรายได้น้อย แม้กระทั่งไม่พอที่จะเสียภาษีให้รัฐที่เพิ่มตัวเลขจีดีพี โดยที่ผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงว่าคนทุกคนในสังคมไทย รวมทั้งคนอีสานและผู้หญิงอีสานต้องเสียภาษี vat 7% ในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค (ผ้าอนามัย) และมีสิทธิในการใช้บริการพื้นฐานของรัฐทุกประการ รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เทียบเท่ากับคนอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นๆของสังคม

5. ใช้คำว่า “หญิงอีสาน” ในบทความนี้ นั่นหมายถึง พฤติกรรมแบบนี้ ผู้หญิงภาคอื่นไม่ทำใช่หรือไม่ เช่นคำถาม

6. ปัญหาที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงและกล่าวโทษต่อผู้หญิงอีสานในบทความนั้น เป็นการกล่าวโทษต่อปัจเจกบุคคล โดยบอกว่าผู้หญิงเหล่านั้น ไม่ได้เลือกการศึกษามากกว่าการแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อความสุขสบายและไต่เต้าทางสังคมแบบทางลัด โดยไม่มองเห็นเลยว่าปัญหาดังกล่าวมันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมที่ไม่เท่าเทียมของสังคมไทย มากกว่าที่จะเป็นปัญหาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 

7. บทความนี้ได้ชี้นำวิธีคิดเชิงชนชั้น เช่น ชนชั้นรายได้น้อย การศึกษาต่ำ ยากจน เป็นภาระของรัฐและชนชั้นที่เสียภาษี

 

**ข้อเรียกร้องของเราคือการให้หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และคุณเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ออกมาขอโทษต่อคนอีสาน และถอดบทความนี้ออกจากหน้าหนังสือ หรืองดเผยแพร่ทุกช่องทางสื่อ**

     ****************************************************************************************

บทความต้นเรื่อง

ที่มา
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2562
คอลัมน์
โลกหมุนเร็ว
ผู้เขียน
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
เผยแพร่
วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2562
https://www.matichonweekly.com/column/article_257126

 

อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม

ตั้งแต่เล็กแต่น้อย พ่อแม่สั่งสอนเรามาว่าให้คบคนดี ถึงเวลานี้ก็ดีใจว่าส่วนใหญ่ก็ได้คบคนดีๆ และเอาตัวรอดมาได้พอสมควร การเอาตัวรอดของคนในสังคมมีหลายวิธี สำหรับผู้หญิงไทย ทางรอดส่วนใหญ่ได้แก่ การศึกษา และการแต่งงาน

เมื่อเร็วๆ นี้อ่านข้อเขียนที่เขียนโดยลูกของหญิงอีสานที่ไปแต่งงานกับฝรั่ง แล้วย้ายไปอยู่ต่างประเทศ

จากนั้นก็ให้ลูกที่เกิดจากสามีคนไทยย้ายตามไปอยู่ด้วย ทำให้ได้รู้ถึงปัญหาความว้าเหว่ในจิตใจของเด็กที่ต้องย้ายจากอกตายายไปอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยง บางคนตั้งแต่อ้อนแต่ออกไม่ได้อยู่กับแม่ จำหน้าแม่ไม่ได้ เหมือนอยู่กับคนแปลกหน้า เป็นปมในใจที่ยากจะเยียวยา

ทำไมจึงเกิดมีปัญหาเช่นนี้ขึ้น ทำไมหญิงอีสานจึงเลือกการไต่สถานะทางสังคมให้ตนเองและลูกด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติและย้ายประเทศ มีชื่อเรียกเทรนด์นี้ว่า marriage migration ทำไมหญิงอีสานจึงไม่เลือกเอาตัวรอดด้วยการศึกษา เป็นเรื่องของ “โอกาส” หรือว่า “อุปนิสัย”

ไม่เคยมีใครทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้

หญิงอีสานคนหนึ่งซึ่งอาชีพปัจจุบันคือแม่บ้าน มีลูกชายกับสามีคนแรก และเลิกกับสามีคนที่สอง เธอบอกว่าเธอเคยเสนอตัวให้ชายต่างชาติแต่ไม่สมหวังเพราะไม่ใช่สเป๊กฝรั่ง ตอนเรียนหนังสือเธอเกเร ไม่สนใจการเรียน ทีนี้เธอก็เลยทั้งการศึกษาน้อยและทั้งไม่สามารถใช้การแต่งงานเป็นทางรอด ชะตาชีวิตเธอจึงต้องจมปลักอยู่กับการทำงานบ้าน ชีวิตต่อไปจะเป็นเช่นไรก็สุดจะรู้ได้

มีหลายคำถามที่น่าตั้งและหาคำตอบ

ทำไมสาวอีสานที่ตั้งใจเรียน และไต่เต้าสถานะทางสังคมแบบคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จึงมีน้อยมาก คำถามนี้น่าสนใจเพราะการศึกษาทำให้สังคมเจริญ และเพิ่มผลผลิต เมื่อสาวอีสานไม่มีความรู้ ไม่ได้แต่งงานกับฝรั่ง พวกเธอลงท้ายต้องทำงานใช้แรงงานตามโรงงาน ตามบ้าน ตามร้านค้าพาณิชย์ เงินเดือนน้อยนิด ไม่สามารถจ่ายภาษีเอื้อจีดีพี นอกจากพวกเธอจะไม่มีรายได้เพียงพอจ่ายภาษี รัฐบาลยังต้องอุดหนุนพวกเธอด้วย “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” อีกด้วย ผู้ชายอีสานตั้งใจเรียนหนังสือและทำมาหากินมากกว่า พวกเขาไต่สถานะทางสังคมด้วยการศึกษา และการทำงานหนัก หลายคนไปใช้แรงงานในต่างประเทศ

ซึ่งในต่างประเทศให้เกียรติการอพยพมาใช้แรงงาน มากกว่าการใช้การแต่งงานมาเป็นสะพานในการอพยพมาสู่ชีวิตที่ดีกว่า

ทำไมสาวอีสานจึงนิยมหาทางออกด้วยการแต่งงานกับฝรั่งกันมาก หนึ่งในนั้นเพราะวัฒนธรรมพึ่งพาคนอื่นมากกว่าการพึ่งพาตนเองใช่หรือไม่ หนึ่งในนั้นคือการเลือกทางรอดมาก่อนศักดิ์ศรีใช่หรือไม่ และอีกหนึ่งในนั้นคือการทำตามอย่างกัน ใช่หรือไม่

วัฒนธรรม เมื่อส่งต่อผ่านกันมาได้กลายเป็นอุปนิสัย กลายเป็นดีเอ็นเอที่ฝังลึก การพึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเองได้กลายเป็นดีเอ็นเอของสาวอีสาน ทำให้เลือกการดำรงอยู่ที่ง่าย เช่น การแต่งงานกับต่างชาติ

หรืออีกแบบคือทำงานโรงงาน เป็นพนักงานห้าง คนทำงานบ้าน สามแบบหลังนี้สร้างฐานะได้ยากกว่า สาวอีสานจึงเลือกการแต่งงานกับต่างชาติมาเป็นอันดับหนึ่ง เพื่อเขยิบฐานะตนเองแบบเร่งรัด

กลับมาที่เรื่อง “โอกาส” และ “อุปนิสัย” กันอีก

ใช่ว่าสาวอีสานจะไม่ได้รับโอกาส คนไทยทุกคนมีโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน

แต่ชายอีสานใช้โอกาสนั้นมากกว่าหญิงอีสาน คุณภาพของการศึกษาเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง วันนี้เองผู้เขียนได้คุยกับคุณพ่อท่านหนึ่งซึ่งใช้บ้านเป็นโรงเรียน (home school) คุณพ่อท่านนี้บอกว่าการสอนเด็กนั้นไม่ได้ผล ต้องให้เด็กรู้เองว่าเขาต้องการทำอะไรหรือเป็นอะไร แล้วเราเป็นผู้สนับสนุนด้วยการจัดหามาให้

ผู้เขียนไม่มีหลักฐานงานวิจัยมาสนับสนุน แต่อยากจะคิดว่าผู้ชายอีสานเรียนแบบมีจุดหมายมากกว่า คือเพื่อมาเป็นหัวหน้าครอบครัวและเพื่ออาชีพ

เขารู้ว่าเขาต้องอ่านออกเขียนได้ ต้องเรียนเลข

ในขณะที่หญิงอีสานเรียนแบบไม่มีจุดหมาย เช่น ไม่มีจุดหมายว่าจะไปเปิดร้านขายของหรือขายผ้าที่ตนเองผลิต ซึ่งจะต้องใช้วิชาเลขอย่างจริงจัง (แม่บ้านคนอีสานของผู้เขียนท่องสูตรคูณไม่ได้ เป็นเรื่องน่าตกใจ) ใช้วิชาบริหารจัดการ

คุณพ่อที่ใช้บ้านเป็นโรงเรียนยังบอกอีกว่าการสอนไม่ได้ผล แต่สิ่งที่ได้ผลคือการทำให้ดูเป็นแบบอย่าง ดังนั้น เมื่อสาวอีสานเห็นแต่แบบอย่างของรุ่นพี่ไปมีสามีฝรั่ง เธอจึงคิดจะเอาอย่าง หากว่าเธอเห็นแบบอย่างเป็นผู้ประกอบการหรือนักวิชาชีพ เธอก็น่าจะเอาอย่างเช่นกันแต่แบบอย่างที่เป็นผู้ประกอบการหรือนักวิชาชีพ ทำไมจึงมีน้อยนัก

อยากจะคิดว่าเป็นเรื่องอุปนิสัยประจำถิ่น

อุปนิสัยของคนเรา มีทั้งอุปนิสัยที่เป็นแง่บวกและแง่ลบ หรือบางครั้งก็เป็นอุปนิสัยกลางๆ ไม่บวกไม่ลบ การเป็นผู้ประกอบการหรือนักวิชาชีพ ต้องการความขยัน อดทน พากเพียร ใฝ่หาข้อมูลความรู้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เป็นอุปนิสัยของสาวอีสานทั่วไป ไม่ใช่อุปนิสัยประจำถิ่น

นี่เป็นเรื่องที่กระทรวงพัฒนาแรงงานและความมั่นคงของมนุษย์ต้องคิดทำ เพื่อสร้างทรัพยากรที่มีศักยภาพ ดูเหมือนว่ากระทรวงจะถนัดการแก้ปัญหามากกว่าการป้องกันปัญหา เช่น เมื่อสตรีถูกกดขี่ข่มเหงตามที่เห็นเป็นข่าวกัน

สาวอีสานพอใจที่จะมีชีวิตง่ายๆ เป็นผู้รับคำสั่ง ไม่ต้องคิดมาก ทำงานง่ายๆ เก่งที่จะบริการ อุปนิสัยเช่นนี้คือสิ่งที่ชี้ชะตากรรมชีวิตของพวกเธอ

ส่วนที่ว่าอุปนิสัยนี้มีความเป็นมาอย่างไร เป็นเรื่องน่าศึกษาทำความเข้าใจอย่างจริงจัง

 

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 603เป้าหมายต่อไป 1,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

  • สำนักพิม
  • พ์ม
  • ติชน
  • เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง