ยกเลิกความผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง กฎหมายอาญามาตรา 301 Decriminalize abortion Now!

ยกเลิกความผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง กฎหมายอาญามาตรา 301 Decriminalize abortion Now!

สร้างแล้ว
8 มิถุนายน ค.ศ. 2020
กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์
ผู้สนับสนุน 41,543เป้าหมายต่อไป 50,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

สร้างโดย กลุ่มทำทาง

เหตุใดกฎหมายไทยต้องบังคับให้เพศหญิง เป็นฝ่ายแบกโลกไว้แต่เพียงผู้เดียว...โดยเฉพาะกฏหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุว่าผู้หญิงที่ยุติตั้งครรภ์ไม่ว่ากรณีใดๆ มีความผิด ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท 

มาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มองไม่เห็นสิทธิเสรีภาพในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เป็นการซ้ำเติมผู้หญิงในทุกกรณี ทั้งๆ ที่การท้องนั้นเกิดจากทั้งหญิงและชายร่วมกัน และการตัดสินใจว่าจะมีหรือไม่มีลูกตอนไหน เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ เป็นสิ่งที่พวกเธอควรเลือกได้เอง 

“การจะเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ของผู้หญิงจำนวนมากมันมีปัจจัยมากมาย แล้วมันไม่ใช่การตัดสินใจง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องมักง่าย แต่เป็นการเลือกชั่งน้ำหนักว่า เวลานี้ฉันทำอะไรไหว” - สัมภาษณ์รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ จากเพจ ‘คุยกับผู้หญิงที่ทำแท้ง’ 

ข้อมูลการเฝ้าระวังการแท้งของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2562 พบว่า ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้ง 60% ทำด้วยเหตุผลทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ในขณะ 40% ทำด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย กฎหมายที่กำลังแก้จึงควรคำนึงถึงความจริงนี้ด้วย การทำแท้งจึงอาจเป็นทางเลือกของครอบครัวที่ลำบากอยู่แล้ว ไม่ให้ลำบากไปกว่านี้ 

นอกจากนี้ หากกฎหมายเอื้อ หน่วยงานด้านสาธารณสุขจะสามารถประชาสัมพันธ์ และขยายบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยให้ครอบคลุมได้มากขึ้น ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้น ไม่ต้องหาข้อมูลแบบหลบๆ ซ่อนๆ และใช้เวลานานจนอายุครรภ์เพิ่ม อีกทั้งยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมทั้งอาการแทรกซ้อนอักเสบ ติดเชื้อ ที่อาจทำให้เสียชีวิตจากการพึ่งพาวิธีทำแท้งไม่ปลอดภัยหรือการทำแท้งที่ไม่สำเร็จ 

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้ว ว่า มาตรา 301 “ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน หรือ มาตรา 28 เรื่องเสรีภาพในชีวิตร่างกาย”

ทำให้ขณะนี้ กฏหมายนี้กำลังถูกปรับแก้อยู่ชั้นกฤษฎีกา โดยในคณะฯ ไม่ได้มีเสียงของผู้หญิงที่เคยทำแท้ง หรือหมอที่ยินดีให้บริการทำแท้งปลอดภัยให้กับผู้หญิงร่วมด้วย - เราจึงกังวลมากว่าเสียงของผู้หญิงอาจถูกมองข้าม จากการที่กระบวนการนี้เป็นการตัดสินใจของคนกลุ่มหนึ่งเพื่อใช้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยลืมไปว่าผู้หญิงต้องแบกรับภาระมากเพียงใดจากการมีมดลูกติดตัวแต่เกิด และยังจะจำกัดให้ผู้หญิงทำแท้งได้ยากภายใต้เงื่อนไขมากมาย ทำให้การท้อง การแท้งกลายเป็นโลกอีกใบที่ผู้หญิงต้องแบกรับต่อไปไม่สิ้นสุด 

Now or Never! ตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสทองที่พวกเราจะช่วยกันผลักดันให้มีการแก้สาระของกฎหมาย เพราะถ้าไม่แก้ตอนนี้ ก็ไม่น่าจะมีโอกาสไหนอีกต่อไปแล้ว เราจึงอยากขอเสียงสนับสนุนจากทุกท่านช่วยกันลงชื่อในแคมเปญนี้ ร่วมแสดงเจตนารมณ์ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ท่านตรากฎหมายคืนสิทธิในเนื้อตัวร่างกายให้แก่ผู้หญิง ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัย ยกเลิกมาตรา 301 ความผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง (อ่านข้อเสนอแก้ไขกฎหมายจากกลุ่มทำทาง และ เครือข่ายภาคประชาสังคมได้ลิ้งนี้)

ไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากท้องไม่พร้อม ไม่มีใครอยากทำแท้ง เพราะการทำแท้งไม่สนุก - เราหวังว่าการแก้กฎหมายนี้จะทำให้สังคมก้าวหน้า ให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่ดีต่อทั้งตัวเองและสังคม ไม่ปล่อยให้ผู้หญิงแบกภาระจากการท้อง ไม่ต้องหลบซ่อน ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากการดิ้นรนหาทางแก้ไขเอง เพราะกลัวความผิดถ้าไปโรงพยาบาล กลัวการประนามทั้งจากคนใกล้ตัวและไกลตัวซึ่งอาจรวมทั้งผู้ให้บริการด้านสุขภาพ

----------

ข้อเสนอการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานทำแท้ง (เพื่อยกเลิกมาตรา 301 และปรับปรุงมาตรา 305) เสนอโดย เครือข่ายภาคประชาสังคมรวม 10 องค์กร ณ วันที่ 8 มิถุนายน 2563

หลักการ และเหตุผล

   เป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ที่ประเทศไทยได้บังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง มาตรา 301-305 โดยกำหนดบทลงโทษทางอาญาต่อผู้หญิงที่ทำแท้งไว้ในมาตรา 301  และมีข้อยกเว้นบทลงโทษผู้กระทำการให้ผู้หญิงแท้ง ในกรณีของแพทย์ รวมถึงเงื่อนไขความจำเป็นบางประการในกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิง หรือหญิงมีครรภ์จากการกระทำความผิดอาญา (มาตรา 276, 277, 282, 283, 284) ไว้ในมาตรา 305    

    ในทางปฏิบัติพบว่า มีคดีที่กระทำความผิดตามมาตรา 301 ขึ้นสู่ศาลน้อยมาก เนื่องจากการทำแท้ง มีลักษณะเป็น “อาชญากรรมที่ปราศจากเจ้าทุกข์” (crime without victims)  หรือ เป็น“การกระทำความผิดที่ไม่มีผู้เสียหาย” (Victimless crimes) กล่าวคือเป็นการกระทำที่ผู้กระทำยินยอมให้ผลของการกระทำนั้นเกิดกับตัวผู้กระทำเอง โดยที่กฎหมายบัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดไว้หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการกระทำที่ผู้กระทำเป็นทั้งอาชญากรและเป็นเหยื่อไปพร้อมๆ กัน จึงเป็นการยากที่จะพิจารณาถึงผู้เสียหายได้โดยชัดเจนเพราะเป็นเรื่องของความยินยอม และทำให้ยากแก่การจับกุมและปราบปรามเพราะทั้งผู้ให้บริการทำแท้งและตัวหญิงที่ยินยอมให้ทำแท้งจะไม่มีฝ่ายใดดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์

    จากข้อมูลการเฝ้าระวังการแท้งของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ใน พ.ศ. 2562 พบว่า ผู้หญิงที่ตัดสินใจทำแท้งจำนวนร้อยละ 60 ทำแท้งด้วยเหตุผลทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ ในขณะที่ร้อยละ 40 ทำแท้งด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้ ในมาตรา 305 ที่ยกเว้นการลงโทษในกรณีที่แพทย์ยุติการตั้งครรภ์ให้กับผู้หญิงด้วยเหตุผลด้านสุขภาพร่างกาย และการตั้งครรภ์จากการกระทำความผิดทางอาญาเพียงสองเหตุผล ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน

    ขณะเดียวกันเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันได้พัฒนาก้าวหน้ามาก สามารถให้บริการดูแลรักษา รองรับการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหญิงได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์โดยกำหนดให้เป็นยาที่สั่งโดยแพทย์ และจัดตั้งเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ในปี พ.ศ. 2557  รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้สนับสนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ในสถานบริการที่เข้าร่วมกับเครือข่ายอาสาเพื่อการยุติการตั้งครรภ์ เพื่อลดอัตราการบาดเจ็บเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกรณีเกิดอาการแทรกซ้อนจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย  ซึ่งผลจากการขึ้นทะเบียนยายุติการตั้งครรภ์ และการดำเนินงานของเครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์พบว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยลงได้ถึง 12 ล้านบาท (ในพ.ศ. 2558) และ 20 ล้านบาท (ในพ.ศ. 2559)

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ยังเอาผิดผู้หญิงที่ทำแท้ง และข้อจำกัดเงื่อนไขในการเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย บวกกับอคติและการตีตราการทำแท้งในสังคมไทย ทำให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์บริการที่มีอยู่ และขยายบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปเข้าไม่ถึงข้อมูล การปรึกษา และบริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยที่มีอยู่ และเลือกที่จะไปใช้วิธีการสั่งซื้อยายุติการตั้งครรภ์ทางอินเตอร์เน็ต ทำให้ยังคงมีผู้หญิงที่ได้รับบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากการใช้ยาที่ไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการมาเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ที่มากกว่า 24 สัปดาห์ซึ่งมีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น ทั้งจากการเกิดอาการแทรกซ้อน และเสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับบริการ เพราะใช้เวลาไปกับการหาข้อมูลในการเข้าถึงบริการ หรือเสียเวลาไปกับการหาซื้อยาทางอินเตอร์เน็ตมาใช้ แต่ยุติการตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ ทำให้อายุครรภ์เพิ่มขึ้น

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังการแท้งของกรมอนามัย ในพ.ศ. 2562 พบว่าแม้ผู้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมารับบริการในอายุครรภ์ระหว่าง 5-8 สัปดาห์มากที่สุดคือ ร้อยละ 43.8 (รองลงมาคือ อายุครรภ์ระหว่าง 9-12 สัปดาห์ ร้อยละ 31.3 และ 17-22 สัปดาห์ ร้อยละ 11.0 ตามลำดับ ) แต่ก็มีผู้รับบริการร้อยละ 2.5 ที่มารับบริการในอายุครรภ์ระหว่าง 23-28 สัปดาห์ และ ร้อยละ 0.1 ในอายุครรภ์ที่เท่ากับหรือมากกว่า 29 สัปดาห์ ในการแก้ไขกฎหมาย จึงควรคำนึงถึงบุคคลกลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากผู้ที่มารับบริการในอายุครรภ์ยิ่งมาก ยิ่งมีความเสี่ยงทั้งทางด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตมากอยู่แล้ว อีกทั้งมีความเป็นไปได้มากที่พวกเขาจะประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมจนทำให้ไม่สามารถมาเข้ารับบริการก่อนหน้านี้ได้ จึงไม่ควรกำหนดบทลงโทษทางอาญาซ้ำเติมมากขึ้นไปอีก

    การที่กฎหมายยังคงกำหนดบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งไว้ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการบริการยุติการตั้งครรภ์ ในฐานะที่เป็นบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่จำเป็น ถือว่าไม่เป็นไปตามหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 55 ฉบับพ.ศ. 2560 ที่ได้กำหนดว่า “รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค โดยที่บริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ …รัฐต้องพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพ และมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”  และเป็นการขัดต่อมาตรา 6 ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้การคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิง โดยระบุว่า สุขภาพของหญิงในด้านสุขภาพทางเพศ และสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ ซึ่งมีความจำเพาะ ซับซ้อน และมีอิทธิพลต่อสุขภาพของหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริม และคุ้มครองอย่างสอดคล้องเหมาะสม

ข้อเสนอเรื่องนิยามการทำแท้ง และการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301- 30

ภาคประชาสังคมโดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กลุ่มทำทาง สมาคมเพศวิถีศึกษา มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และองค์กรที่ร่วมลงนามรวมจำนวน 10 องค์กร จึงมีข้อเสนอเรื่องนิยามของคำว่า “การทำแท้ง” และต่อการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301- 305 ดังต่อไปนี้

(1) นิยาม

การทำแท้ง หมายถึง กระบวนการทำให้การตั้งครรภ์สิ้นสุดลง  แบ่งเป็น

1.การทำแท้งที่ปลอดภัย คือ การยุติการตั้งครรภ์โดยใช้กระบวนการทางการแพทย์ ด้วยการใช้ยา หรือ เครื่องมือ

2.การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย คือ การยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นหรือโดยบุคคลที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมสำหรับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย

(2) การปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301- 30

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท (ยกเลิก)

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้อง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสี่แสนบาท

มาตรา 304 ผู้ใดพยายามกระทำความผิดตาม มาตรา 302 หรือ มาตรา 303 ผู้นั้นต้องระวางโทษเท่าความผิดสำเร็จ

มาตรา 305 ถ้าการกระทำใน มาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม หรือผู้อยู่ใต้ความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 24 สัปดาห์ผู้กระทำไม่มีความผิด และในอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ โดย

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของหญิงนั้น หรือ

(2) ทารกในครรภ์มีความพิการ หรือเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง หรือ

(3) หญิงมีครรภ์เนื่องจากความล้มเหลวในการคุมกำเนิดด้วยวิธีทำหมันหญิง ทำหมันชาย ฝังยาคุมกำเนิด ใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือวิธีอื่นใดที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน หรือ

(4) หญิงมีครรภ์และครอบครัวมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคมจนไม่สามารถเลี้ยงดูทารกที่กำลังจะเกิดมาได้

(5) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 มาตรา 283 ทวิ หรือ มาตรา 284

ผู้กระทำไม่มีความผิด

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 41,543เป้าหมายต่อไป 50,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ