#ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร อย่าให้รัฐปิดหูปิดตาประชาชน

#ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร อย่าให้รัฐปิดหูปิดตาประชาชน

สร้างแล้ว
2 พฤษภาคม ค.ศ. 2021
กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์
ผู้สนับสนุน 21,406เป้าหมายต่อไป 25,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

สร้างโดย Nichakorn Mekvoravut

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. …. (พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ) ซึ่งเป็นร่างแก้ไขเพิ่มเติมจากพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และจะนำไปเสนอให้รัฐสภาต่อไป

โดย ร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่เป็นปัญหา ดังนี้

     1).  ขอบ่อยไป ไม่ให้นะจ๊ะ -- มาตรา 11/1
ประชาชนสามารถยื่นขอข้อมูลข่าวสารทางราชการได้ แต่การแก้ไขโดยระบุว่า หากผู้ขอข้อมูลนั้น “ขอข้อมูลเป็นจำนวนมาก หรือบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร” หรือมีลักษณะเป็นการ “ก่อกวน” และ “สร้างภาระจนเกินสมควร” ให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานรัฐมีสิทธิจะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ประชาชนก็ได้ ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิการรับรู้ของสื่อและประชาชน ให้สงสัยได้เพียงเท่าที่รัฐอนุญาตให้สงสัยเท่านั้น

     2).  มาตรา 112 สำหรับสื่อมวลชน? -- มาตรา 13/2
ห้ามเปิดเผยข้อมูล “ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย” ต่อสถาบันกษัตริย์ การนิยามเช่นนี้มีความกว้างขวางเกินไป เพราะสามารถตีความได้ว่า ไม่ว่าข้อมูลใดก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ ได้ทั้งสิ้น ทั้งยังมีความเสี่ยงที่มาตรานี้จะถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเช่นเดียวกับมาตรา 112 เพราะแม้ว่าสื่อมวลชนจะทำตามหน้าที่ของตน คือติชมอย่างสุจริต (Fair comment) เพื่อสาธารณประโยชน์ (Public interest) การกระทำด้วยเจตนาดีเช่นนี้ กลับสามารถถูกตีความเพื่อลงโทษได้เช่นกัน

     3).  ข้อมูลอ่อนไหวเกินไป ไม่ขอเปิดเผยแล้วกัน -- มาตรา 13/2
ห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็น “ความมั่นคงของรัฐ” ข้อมูล “ด้านการทหาร” และ “การป้องกันประเทศ” รวมถึง “การป้องกันและปราบปรามการก่อการร้าย” ที่แม้จะมีความสำคัญมาก และเสี่ยงต่อการกระทำอันละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมให้มีการเข้าถึงหรือสอดส่องจากสื่อมวลชนเด็ดขาด โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกับความปลอดภัยของประชาชน 

     4).  เรื่องของรัฐบาล ชาวบ้านไม่ต้องยุ่ง -- หมวด 2 (1)
การเข้าถึงเอกสารเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจหรือการเงินการคลังของประเทศ” ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทั้งที่งบประมาณแผ่นดินจะเกี่ยวข้องกับภาษีจากประชาชน และเป็นสาธารณประโยชน์ (Public interest) ประชาชนสื่อจึงมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ โดยไม่ควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคนเพียงกลุ่มเดียว

     5).  การระวางโทษที่รุนเเรงเกินกว่าเหตุ
กรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข มาตรา 13/1 หรือ 13/2 จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเทียบได้กับอัตราโทษของคดีอุกฉกรรจ์ จึงเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข มีอัตราโทษสำหรับองค์ความผิดดังกล่าวที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และไม่ควรนำมาบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้มาตราที่ตีความได้กว้างขวางเช่นนี้

หาก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไขนี้ ถูกประกาศใช้ จะเป็นการปิดหูปิดตาประชาชนไม่ให้มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิต เช่น ข่าวการจัดซื้อวัคซีน ข่าวการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบันขาดความโปร่งใส เพราะประชาชนและสื่อมวลชนไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานของรัฐบาลได้

ทั้งนี้ หน้าที่ของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตยคือการตรวจสอบความโปร่งใสของผู้มีอำนาจ โดยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและส่งต่อให้ประชาชนรับรู้ ทว่าจากสาระสำคัญข้างต้นจะเห็นได้ว่า การแก้ไข พ.ร.บ. ครั้งนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 35 ความว่า “บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ”

จึงพิจารณาได้ว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เป็นกฎหมายลูกที่ขัดกับความตามรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์เสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงของสื่อมวลชนและประชาชนที่พึงรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ในขณะเดียวกันองค์ความผิดที่ต้องอาศัยการตีความอย่างหนักกลับถูกกำหนดอัตราโทษไว้สูงเมื่อเทียบกับความผิดตามกฎหมายอาญาอื่น หากเทียบเคียงกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งอนุญาตให้ใครก็ได้สามารถฟ้องร้องต่อผู้ถูกกล่าวหาด้วยความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ จึงเป็นข้อสังเกตต่อไปว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ จะเป็นกฎหมายอีกฉบับที่อภิวัฒน์ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ 

ด้วยเหตุนี้ ภาคีนักเรียนสื่อ จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารฯ ฉบับแก้ไข ร่วมลงชื่อในแคมเปญ “#ไม่เอาพรบข้อมูลข่าวสาร อย่าให้รัฐปิดหูปิดตาประชาชน” เพื่อไม่ให้ประชาชนถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ และช่วยให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงเพื่อปกป้องสาธารณประโยชน์ ตามหลักการของสังคมประชาธิปไตย

 

อ้างอิง : 

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 21,406เป้าหมายต่อไป 25,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ