หยุด! ร่าง พ​.​ร​.​บ. ที่ควบคุมการสื่อสารของสื่อและประชาชน

หยุด! ร่าง พ​.​ร​.​บ. ที่ควบคุมการสื่อสารของสื่อและประชาชน

สร้างแล้ว
26 มิถุนายน ค.ศ. 2022
ผู้สนับสนุน 3,330เป้าหมายต่อไป 5,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

สร้างโดย Siripannee Supratya

ปี 2560 รัฐพยายามออกกฎหมายเพื่อควบคุมเสรีภาพในการสื่อสาร ผ่านการกำหนดนิยามของสื่อมวลชนว่าคือคนที่มี 'ใบอนุญาตจากรัฐ' นอกจากนั้น หากริอ่านสื่อสารจะถูกลงโทษได้ แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจนล่าถอย

ปี 2565 ความพยายามควบคุมการสื่อสารได้กลับมาอีกครั้งในรูปแบบด้านกลับ คือนับรวมว่าทุกคนที่สื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นแอดมินเพจ อินฟลูเอ็นเซอร์ ประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดียและมีรายได้จากแพล็ตฟอร์มมีสิทธิถูกนับรวมเป็นสื่อมวลชน และเมื่อได้ชื่อว่าเป็นสื่อมวลชนแล้วก็ต้องเข้ารับการควบคุมอย่างเคร่งครัดจากรัฐและหน่วยงานที่ทำหน้าที่เหมือนตำรวจจริยธรรมซึ่งตั้งขึ้นมาใหม่ นี่คือที่มาของความพยายามผลัก “ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ....” ที่แม้ชื่อจะสวยหรู แต่เราขอเรียกว่า “ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเสรีภาพการสื่อสาร” แทน 

 

หากทุกคนต้องอยู่ภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการสื่อสารนี้ จะเกิดอะไรขึ้น?

 

1. ตามนิยามของร่าง พ.ร.บ. นี้ "ใครถูกนับเป็นสื่อได้" ทุกคนจะได้รับผลกระทบ รวมถึงดาว TikTok

      ตามนิยามอันกว้างขวางของร่าง พ.ร.บ. นี้ “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หรือผู้ที่จะถูก พ.ร.บ. ฉบับนี้ควบคุม กินความอย่างกว้างขวางเกือบทุกๆ คนที่สื่อสาร และสามารถหารายได้จากการสื่อสาร ไม่ใช่เพียงแค่สำนักข่าวต่างๆ แต่รวมถึงอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีรายได้จากแพล็ตฟอร์มหรือเงินโฆษณา ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าจะผ่านโซเชียลมีเดียใดๆ Facebook, YouTube, Instagrm, Tiktok, พ่อค้าแม่ค้าไลฟ์ขายของ หากส่วนใดส่วนหนึ่งของคอนเทนต์พูดถึงข่าวสารต่างๆ ก็อาจเข้าข่ายอยู่ใต้การควบคุมตามร่าง พ.ร.บ. นี้ โลกออนไลน์ที่เคยสื่อสารอย่างเสรีจะไม่มีอีกต่อไป ดังที่ปรากฎอยู่ในมาตรา 3 ว่า

      “สื่อมวลชน (ผู้ที่จะถูกควบคุมภายใต้ร่าง พ.ร.บ. นี้) หมายถึง สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปแบบอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร”

 

2. เสรีภาพในการสื่อสารต้องไม่ขัดต่อ “หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี”  ที่นิยามไม่ชัดและไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

      “การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน” เป็นหลักการในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กินความถึงผู้คนทุกสาขาอาชีพและประชาชนไทยทุกคน ซึ่งหลักการนี้เคยถูกใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารมาแล้ว เช่นกรณีปราศรัยทางการเมืองของนักกิจกรรมที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดเพราะขัดต่อ “หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี”  

      คำว่า “หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี”  นั้นมีนิยามไม่แน่ชัด และบ่อยครั้งพบว่าไม่ได้รับการตีความอย่างเท่าทันกับยุคสมัย แต่สองคำนี้กำลังจะถูกถ่ายโอนจากรัฐธรรมนูญมาสู่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดังที่ระบุไว้ว่า

      “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่าง”

      ถ้าเราพูดถึงการยกเลิกใส่ชุดนักเรียน ชุดลูกเสือ จะขัดกับ “หน้าที่ปวงชน” หรือไม่? ถ้าเราเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพหรืองบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ล่ะ? ถ้าเราคัดค้านการเกณฑ์ทหารเราจะขัดกับ “หน้าที่ปวงชน” หรือเปล่า เราจะนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศได้แค่ไหน? หากพูดเรื่องเซ็กส์ทอยหรือคอนเท็นต์เกี่ยวกับเซ็กส์ จะถูกตีความว่าขัดกับ “ศีลธรรมอันดี” ไหม?

      คำถามเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากฎหมายฉบับนี้บังคับใช้

      นอกจากนี้เรายังมีคำถามว่า “ใคร” จะเป็นกำหนดว่า เสรีภาพในการสื่อสารของเรานั้น ขัดกับ “หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี” หรือไม่? และเป็น “หน้าที่ปวงชน-ศีลธรรมอันดี” ของใคร? 

      หากจะสร้างกลไกขึ้นมากำกับการสื่อสารหรือจริยธรรมสื่อมวลชน ปัจจุบันมีกลไกจำนวนมากคอยกำกับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรวิชาชีพสื่อฯ ที่มีอยู่หลายองค์กร หรือมีกฎหมายหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ ที่ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้

      ยังไม่รวมถึงประชาชนที่เป็นพลังสำคัญในการติดตาม ตรวจสอบ และให้ฟีดแบ็กการทำงานของผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารทุกคนอยู่อย่างสม่ำเสมอ

 

3. ทุกคนจะอยู่ภายใต้การควบคุมของคนที่เราไม่ได้เลือก แต่อยู่ยาววว 1) สภาวิชาชีพสื่อฯ (ที่ได้เงินจากรัฐ แต่อิสระนะ?) แพ็กคู่กับ 2) กรรมการจริยธรรม

      หัวใจสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการสื่อสาร คือการตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี เป็นติดต่อกันได้ 2 สมัย ที่หน้าที่หลักคือกำหนด “มาตรฐานจริยธรรมของสื่อฯ” และเพราะตามนิยามของร่างกฎหมายนี้ “ใครๆ ก็อาจถูกนับเป็นสื่อฯ” มาตรฐานจริยธรรมนี้ จึงจะถูกนำมาใช้กับเราทุกคนที่เข้าข่าย พร้อมกับแต่งตั้ง “กรรมการจริยธรรม” ซึ่งจะเป็นตำรวจสื่อฯ เข้ามาตรวจตราว่า คนที่ต้องถูกกำกับภายใต้ร่าง พ.ร.บ. นี้ ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อฯ ที่มีการกำหนดไว้หรือไม่

      ที่สุดของเรื่องนี้คือ สภาวิชาชีพสื่อฯ จะได้เงินอุดหนุนหลายทาง ทั้งจากภาษีประชาชนปีละ  25-200 ล้านบาท, เงินที่รัฐบาลจัดสรรให้เป็นทุนประเดิม เงินจากกองทุน กสทช., เงินจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี ฯลฯ  คุณเชื่อกันหรือไม่ว่า ด้วยเงินก้อนโตเหล่านี้ องค์กรใหม่ที่จะตั้งขึ้นมาควบคุมการสื่อสารในภาพรวม จะมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกรัฐเข้ามาแทรกแซง?

      อีกเรื่องที่พีคไม่แพ้กัน คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 มาตรา 4(3) นั้นผูกโยงกับร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการสื่อสาร โดย ยกเว้นบังคับใช้ กับสื่อฯ ที่ปฏิบัติตาม “จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ” ซึ่งหากมาตรฐานจริยธรรมฯ ที่องค์กรซึ่งตั้งขึ้นมาตามร่าง พ.ร.บ. นี้ กำหนดมาแคบมาก จะส่งผลต่อการสื่อสารของผู้คนมากน้อยแค่ไหน เช่น ไปถ่ายคลิปตำรวจสลายการชุมนุมเพื่อตั้งคำถามว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ จะถูกมองว่า ขัดขวางการทำงานเจ้าหน้าที่ จนละเมิดทั้งกม. PDPA และร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ 

 

4. ใครฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา

      แม้ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการสื่อสาร จะอ้างว่า กรรมการจริยธรรม ซึ่งทำหน้าที่เหมือนตำรวจจริยธรรมนี้ไม่มีอำนาจลงโทษทางอาญา (เพราะในมาตรา 31 กำหนดบทลงโทษไว้ 3 อย่าง คือ ตักเตือน, ภาคทัณฑ์, และประจาน) แต่เป็นการพูดไม่หมด เพราะในร่างกฎหมายเดียวกัน ยังเขียนไว้ในมาตรา 44 ว่าหากเห็นว่ามีความผิดตามกฎหมายอื่น (ซึ่งอาจมีโทษทางอาญา อย่างจำคุก ปรับเงิน ฯลฯ) สามารถส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาต่อได้ อำนาจและดุลยพินิจของคณะกรรมการจริยธรรมจึงกว้างขวางและให้คุณให้โทษได้มาก

 

กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้แน่นอนหากประชาชนเงียบเสียง

ร่างกฎหมายนี้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 โดยมีผู้รับรู้จำกัดอยู่ในวงแคบ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอหยิบขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในฐานะ “กฎหมายปฏิรูปประเทศ” ซึ่งหากสังคมเงียบเสียง มีแนวโน้มว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยเร็ว

เราอยากขอเสียงสนับสนุนจากประชาชนทุกคน ร่วมส่งเสียงว่าเราไม่ต้องการเครื่องมือที่รัฐใช้ “ปิดปาก” ไม่ให้พวกเราได้ติดต่อสื่อสารกันอย่างเสรีอย่างที่ควรเป็น และเราต้องการให้สมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะ ส.ส. หรือ ส.ว. “ยุติ” การพิจารณาร่างกฎหมายซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสื่อสารของประชาชนในวงกว้างนี้ โดยทันที  อีกทั้งเรายังอยากขอให้ท่านนึกทบทวนว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? เพราะเสรีภาพของสื่อและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ยังได้รับการรับรองไว้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ในมาตรา 34, 35 และ 36 ตามลำดับ

ส่วนกรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้จัดทำควร “ถอน” ร่าง พ.ร.บ. นี้ออก พรัอมจัดกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องครบถ้วนอย่างรอบด้าน แทนที่จะเร่งรัดผลักดันโดยมีผู้รับรู้เพียงไม่กี่คน กระทั่งได้กฎหมายที่มีเนื้อหาอาจส่งผลกระทบต่อการเสรีภาพในการแสดงความเห็น

หากเชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพการสื่อสาร ขอชวนทุกคนส่งพลังของคุณมาร่วมกับเราได้ที่ www.change.org/NoMediaBill

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 3,330เป้าหมายต่อไป 5,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์