ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เร่งผลักดันการบรรจุยานวัตกรรมเข้าสู่สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย

ต่อชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เร่งผลักดันการบรรจุยานวัตกรรมเข้าสู่สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย

สร้างแล้ว
16 พฤศจิกายน ค.ศ. 2022
ผู้สนับสนุน 4,798เป้าหมายต่อไป 5,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

มูลนิธิรักษ์ตับ ในฐานะตัวแทนผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิดที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคตับและมะเร็งตับ ได้จัดทำแคมเปญ “Voice for Change: หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ” ขึ้น โดยมีจุดประสงค์หลัก คือ การเรียกร้องให้เกิดการพิจารณานำยานวัตกรรมเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับทุกคนสามารถเข้าถึงยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้

ปัจจุบัน เมื่อเทียบมะเร็งตับกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ คนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ร้อยละ 14.4 ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ส่วนชนิดของมะเร็งตับที่พบได้บ่อยมากที่สุดคือ มะเร็งเซลล์ตับ (Hepatocellular carcinoma – HCC) ซึ่งพบในผู้ป่วยถึงร้อยละ 90 โดยมักตรวจพบในระยะรุนแรงเมื่อโรคลุกลามแล้ว เนื่องจากสาเหตุหลักเกิดจากภาวะตับอักเสบเรื้อรังจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งมักไม่แสดงอาการ

ข้อมูลจากแบบสำรวจ “การศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดการเข้าถึงการรักษา การดูแลและการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับในประเทศไทย (Surviving Liver Cancer: Study of Factors Determining Hepatocellular Carcinoma Patients’ Access to Treatment, Care and Support in Thailand)” ยังพบว่าผู้ป่วยหลายคนกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา และบางคนเลือกไม่เข้ารับการรักษาต่อเนื่องเพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไหว จึงทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

แม้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศจะประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับจำนวนมากยังคงต้องจ่ายเงินเป็นค่ารักษาให้กับแผนประกันสุขภาพส่วนบุคคล ชี้ให้เห็นว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการที่พวกเขาเป็นอยู่ ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงยารักษาลำดับแรกและลำดับที่สองสำหรับโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นและระยะลุกลามในสิทธิการรักษาพยาบาล แต่สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย รวมถึงแผนประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดหลายประการที่ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งตับไม่สามารถเข้าถึงยาต้านมะเร็งที่ไม่มีรายชื่ออยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการชดเชยด้านค่าใช้จ่าย ซึ่งเท่ากับว่าผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง 

การผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรจุยานวัตกรรมเข้าสู่สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย รวมถึงบัญชียาหลักแห่งชาติ จึงเป็นเรื่องจำเป็นและเร่งด่วน เราจึงขอเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง ดำเนินการผลักดันยานวัตกรรมให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้รับสิทธิในการรักษาทุกคนอย่างทั่วถึง เข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาสุขภาพร้ายแรงของคนไทย และลดอัตราการเสียชีวิตของคนในประเทศ

ในปัจจุบัน แนวทางการรักษาโรคมะเร็งตับแบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ได้แก่ 1. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาที่ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงทั้งระหว่างการให้ยาและช่วงพักการให้ยา 2. การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งผ่านกลไกการยับยั้งการสร้างหลอดเลือดที่มาเลี้ยงมะเร็ง แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ หากผู้ป่วยได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน และ 3. การรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในการเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยใช้ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด และมีหลักฐานสนับสนุนทางวิชาการที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์การรักษาที่ดี ช่วยยืดระยะเวลาปลอดโรค และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดตามสิทธิประโยชน์ด้านยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น และยังไม่สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาตามมาตรฐานสากลได้ เนื่องจากสิทธิ์การรักษาและแผนประกันสุขภาพของรัฐ ไม่สามารถเบิกได้ทั้งหมด

สำหรับผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายค่ารักษา แพทย์จะแนะนำวิธีรักษาด้วยการใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด และการรักษาด้วยยามุ่งเป้า

การแก้ไขระบบเบิกจ่ายจะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรม ซึ่งคือการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัด 

บทบาทของหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาในการเพิ่มรายการยาในสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย รวมถึงบัญชียาหลักแห่งชาติให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมการรักษา จะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงด้านการรักษา ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากสถิติของกลุ่มผู้ป่วยที่เข้าร่วมแบบสำรวจ “การศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดการเข้าถึงการรักษา การดูแลและการให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเซลล์ตับในประเทศไทย (Surviving Liver Cancer: Study of Factors Determining Hepatocellular Carcinoma Patients’ Access to Treatment, Care and Support in Thailand)” พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่อยู่ในวัยแรงงาน อายุ 31-60 ปี มีจำนวนร้อยละ 36.9 ในขณะที่ผู้ป่วยสูงอายุ 61-71 ปี มีจำนวนร้อยละ 43.5 เมื่อนำมาพิจารณากับโครงสร้างสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจคาดการณ์ได้ว่าความรุนแรงของโรคมะเร็งตับอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องพึ่งพาระบบดูแลสุขภาพมีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลงและอาจเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็งตับ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงภาระด้านงบประมาณเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น

สถานการณ์โรคมะเร็งตับในประเทศไทยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่พวกเราทุกคนไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เราจำเป็นต้องอาศัยพลังของทุกคนเพื่อช่วยกันเปล่งเสียงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งผลักดันการบรรจุยานวัตกรรมเข้าสู่สิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทย รวมถึงบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะยาว และรับมือกับปัญหาโรคมะเร็งตับอย่างยั่งยืนในประเทศไทยต่อไป

เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
ผู้สนับสนุน 4,798เป้าหมายต่อไป 5,000
เข้าร่วมสนับสนุนเดี๋ยวนี้
แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์