แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ

แก้ปัญหา #ม็อบชาวนา เร่งโอนหนี้ชาวนาจากธนาคารมาเป็นของรัฐ

สร้างแล้ว
17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022
กำลังอยู่ระหว่างการรณรงค์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะรัฐมนตรี
แคมเปญประสบความสำเร็จ
การรณรงค์สำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้สนับสนุนจำนวน39,624คน

ทำไมแคมเปญรณรงค์นี้ถึงมีความสำคัญ

ตอนนี้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้เฉลี่ย กก.ละ 6 บาท หรือแทบจะเท่าราคามาม่าหนึ่งห่อ เราขายข้าวขาดทุนกันอยู่ประมาณตันละ 2,000 - 2,500 บาท แต่สินค้าต่างๆ ที่เป็นปัจจัยการผลิตไม่เคยเป็นสินค้าควบคุมอีกทั้งฉวยโอกาสขึ้นราคาอยู่เสมอ นโยบายรัฐนั้นส่งเสริมให้ปลูกข้าวเยอะๆ เพื่อส่งออก แต่ยิ่งเราปลูกเยอะ เรากลับยิ่งขาดทุนเยอะ

หนี้สินของพวกเราแทบทั้งหมดเกิดจากการเดินตามนโยบายรัฐและเป็นผลจาการบริหารงานของรัฐโดยตรง “หนี้ชาวนา” จึงเป็นหนี้ที่รัฐต้องช่วยเฉลี่ยความเสี่ยง ซึ่งเราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐต้องสร้างกลไกใหม่เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงและความทุกข์ของชาวนา แต่เรียกร้องให้ใช้กลไกเดิมที่มีอยู่ นั่นคือ “กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.)

กองทุนฯ นี้ช่วยปกป้องไม่ให้ชาวนาสูญเสียที่ดินเมื่อราคาข้าวตกต่ำ เพราะจะทำหน้าที่ซื้อหนี้ของเกษตรกรจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน แล้วให้เกษตรกรผ่อนชำระกับกองทุนฯ แทนเจ้าหนี้เดิม ในอัตราดอกเบี้ย 0 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ชาวนาจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยสูง ไม่มีค่าปรับ ทำสัญญาระยะยาวได้ 15-20 ปี ซึ่งพอทำให้พวกเรามีเวลาหายใจ

ด้วยราคาข้าวที่ตกต่ำและปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิดเป็นต้นมา การโอนหนี้ให้เป็นของกองทุนฯ ควรเข้า ครม. ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่ผ่านมาจนข้ามปีก็ยังไม่เข้า ครม. จนขณะนี้พวกเรายังคงต้องชำระหนี้ให้ 4 สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการชำระหนี้กองทุนฯ ด้วยความล่าช้านี้ทำให้ชาวนาราว 30,000 คน กำลังเสี่ยงถูกฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สิน ถูกยึดที่ดิน และสูญเสียอาชีพ จนไม่แน่ใจว่าในอนาคตยังมีใครอยากเป็นชาวนาหรือไม่และพวกเราอาจเป็นชาวนารุ่นสุดท้าย

หนึ่งในข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความล่าช้านี้ คือหากเกษตรกรมาขอใช้สิทธิ์กับกองทุนฯ มากขึ้น จะส่งผลให้ธนาคารต้องเสียลูกค้าไปเรื่อยๆ และเสียโอกาสที่จะได้ดอกเบี้ย จนเราอยากตั้งคำถามว่านี่คือเหตุผลที่ทำให้การโอนหนี้เกิดขึ้นอย่างล่าช้าหรือไม่?

พวกเราอยู่เฉยไม่ได้ จึงต้องมาปักหลักตากแดดตากฝนอยู่ในเมืองกรุง ขณะนี้พวกเราย้ายมาปักหลักข้างกระทรวงการคลัง ถ.พระราม 6 เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล เดิมเราคาดว่าเรื่องนี้จะถูกผลักดันเข้าครม.ในวันที่ 15 ก.พ. 2565 ซึ่งหากเรื่องนี้เข้าครม.แล้ว และสมาชิกกองทุนฟื้นฟูราว 30,000 คน ที่ใกล้จะสูญเสียที่ดินได้รับการโอนหนี้เราจะกลับทันที แต่เรื่องของพวกเรากลับยังไม่ถูกผลักดันเข้าสภาฯ ในวันดังกล่าว ล่าสุดตัวแทนรัฐบาลได้ขอเลื่อนวันผลักดันเรื่องนี้เข้าสภาฯ เป็นวันที่ 22 มี.ค. 2565 เราจึงยังต้องอาศัยพลังของสังคมช่วยจับตาคำสัญญาของรัฐบาลและขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป

 

ข้อเรียกร้องของเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย 

1. ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิก    เร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมกับขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาทขยายเป็น 5 ล้านบาทเสนอเข้าสู่เข้ามติครม.

2. ขอให้ลดหนี้ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิกกฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรคเหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ได้บัญญัติไว้ช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ (กฟก.)

3. ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ขึ้นราคาพืชผลการเกษตรถูกลงทุกวัน แต่ราคาปุ๋ยกลับแพงขึ้น ประชาชนที่เดือดร้อนที่ทำเกษตรกรจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ช่วยเหลือและเยียวยารวมถึงพักชำระหนี้
                                                                       

ชรินทร์ ดวงดารา 

แกนนำและที่ปรึกษา เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย 


หมายเหตุ:  กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)  จะรับโอนหนี้จากชาวนาไม่ได้  หาก ครม.ไม่อนุมัติก่อน เพราะสถาบันทางการเงินของรัฐทั้ง 4 แห่งที่เป็นเจ้าหนี้ของเกษตรกร ได้แก่ ธ.ก.ส., ออมสิน, อาคารสงเคราะห์ และเอสเอ็มอีแบงก์เป็นธนาคารของรัฐ ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ถ้าไม่มีมติคณะรัฐมนตรี ถ้าเป็นการซื้อขายหนี้ 1-2 รายก็ไม่เป็นไร แต่นี่เป็นการซื้อขายลอตใหญ่ และเป็นการขายหนี้ให้หน่วยงานของรัฐ จึงต้องใช้มติ ครม.

แคมเปญประสบความสำเร็จ

การรณรงค์สำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีผู้สนับสนุนจำนวน39,624คน

แชร์แคมเปญรณรงค์นี้

แชร์แคมเปญรณรงค์นี้ด้วยตัวคุณเองหรือใช้รหัสคิวอาร์นี้ในสื่อของคุณดาวน์โหลดรหัสคิวอาร์

ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, คณะรัฐมนตรี